เลือกประกันรถยนต์ ชั้น 1 ยังไงให้ถูกใจ สบายใจหายห่วง

ประกันรถยนต์ ถือเป็นประกันอีกประเภทที่คนส่วนใหญ่เลือกทำกันเป็นจำนวนมาก อาจเพราะเนื่องจากเรามักจะเห็นความไม่แน่นอนที่สามารถเกิดอุบัติเหตุได้เสมอตามท้องถนน ไม่ว่าจะเกิดทั้งจากตัวเราเอง หรือเกิดจากคนอื่น ดังนั้น ถึงแม้เราเองจะระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้ว ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าเราจะปลอดภัย 100% ตราบใดที่เรายังต้องอยู่บนท้องถนนร่วมกับคนอื่น

ซึ่งเมื่อพูดถึงประกันรถยนต์แล้ว หลายคนอาจจะคิดว่า แบบประกันรถยนต์ชั้น 1 นั้นดีที่สุดเพราะมีรายการคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุด แม้เบี้ยประกันจะแพงที่สุดก็ตาม แต่สำหรับใครก็ตามที่ซื้อประกันรถยนต์ชั้น 1 ไปทุกปี แต่ไม่เคยต้องเคลมเลยตลอด 5 ปีที่ผ่านมานั้น บางทีประกันรถยนต์ชั้น 1 อาจจะไม่ใช่ประรถยนต์ที่ “เหมาะที่สุด” สำหรับคนกลุ่มนี้ก็ได้ แม้จะเป็นแบบที่มีความคุ้มครองครอบคลุมที่สุดก็ตาม สาเหตุก็เพราะ แต่ละคนมีความเสี่ยงในการขับขี่ที่ต่างกัน ดังนั้นก็ย่อมจะเหมาะกับแบบประกันรถยนต์ที่ต่างกันด้วย โดยที่ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ (นอกเหนือจากพรบ.ประกันรถยนต์ที่เป็นภาคบังคับ) จะมีทั้งหมด 4 ชั้น คือชั้นที่ 1, 2, 3 และ 4 และยังมีชั้นย่อยอีก 2 ชั้น คือชั้นที่ 2+ และชั้นที่ 3+ ซึ่งแต่ละแบบหรือแต่ละชั้น ก็มีความคุ้มครองที่แตกต่างกันดังนี้
ชั้นที่ 1 “ซ่อมเขา-ซ่อมเรา-สูญหาย-ไฟไหม้” สามารถเคลมได้ทุกกรณี
สำหรับบุคคลภายนอก(คู่กรณี) ในส่วนของตัวบุคคล จะคุ้มครองทั้งกรณีเสียชีวิตและการบาดเจ็บ และส่วนของรถจะคุ้มครองค่าซ่อมแซมของรถคู่กรณี สำหรับผู้ขับ ในส่วนของตัวผู้ขับ จะคุ้มครองทั้งกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บ ส่วนของรถจะคุ้มครองค่าซ่อมแซมรถที่เสียหาย ทั้งกรณีชนแบบมีคู่กรณี (เราขับไปชนเอง) และไม่มีคู่กรณี คุ้มครองกรณีรถสูญหายหรือถูกโจรกรรม และคุ้มครองกรณีรถถูกไฟไหม้หรือน้ำท่วมด้วย
ชั้น 2 “ซ่อมเขา-ไม่ซ่อมเรา-สูญหาย-ไฟไหม้” เคลมได้เฉพาะรถคู่กรณีที่เราชน แต่รถของเราต้องซ่อมเอง
สำหรับบุคคลภายนอก(คู่กรณี) ในส่วนของตัวบุคคล จะคุ้มครองทั้งกรณีเสียชีวิตและการบาดเจ็บ ส่วนของรถจะคุ้มครองค่าซ่อมแซมของรถคู่กรณี สำหรับผู้ขับ ส่วนของตัวผู้ขับ จะคุ้มครองทั้งกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บ และส่วนของรถ จะคุ้มครองกรณีรถสูญหายหรือถูกโจรกรรม และคุ้มครองกรณีรถถูกไฟไหม้หรือน้ำท่วม เท่านั้น แต่จะไม่คุ้มครองกรณีที่เกิดความเสียหายจากการขับไปชนเอง ไม่ว่าจะมีคู่กรณีหรือไม่ ก็ตาม
ชั้นที่ 2+ “ซ่อมเขา-ซ่อมเรา-สูญหาย-ไฟไหม้” เคลมได้เฉพาะกรณีอุบัติเหตุรถชนรถเท่านั้น
มีความคุ้มครองทุกอย่างเหมือนกับแบบชั้นที่ 2 เพียงแต่เพิ่มกรณีคุ้มครองรถของตัวผู้ขับเอง กรณีชนแบบมีคู่กรณี เท่านั้น
ชั้นที่ 3 “ซ่อมเขา-ไม่ซ่อมเรา-ไม่คุ้มครองสูญหาย-ไม่คุ้มครองไฟไหม้” เคลมได้เฉพาะรถคู่กรณีที่เราชน แต่รถของเราต้องซ่อมเอง
สำหรับบุคคลภายนอก(คู่กรณี) ในส่วนของตัวบุคคลจะคุ้มครองทั้งกรณีเสียชีวิตและการบาดเจ็บ ส่วนของรถจะคุ้มครองค่าซ่อมแซมของรถคู่กรณี สำหรับผู้ขับ ส่วนของตัวผู้ขับ จะคุ้มครองทั้งกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บเท่านั้น แต่จะไม่มีการคุ้มครองตัวรถของผู้ขับไม่ว่าจะกรณีใดๆ
ชั้นที่ 3+ “ซ่อมเขา-ซ่อมเรา-ไม่คุ้มครองสูญหาย-ไม่คุ้มครองไฟไหม้” เคลมได้เฉพาะกรณีอุบัติเหตุรถชนรถเท่านั้น
มีความคุ้มครองทุกอย่างเหมือนกับแบบชั้นที่ 3 เพียงแต่เพิ่มกรณีคุ้มครองรถของตัวผู้ขับเอง กรณีชนแบบมีคู่กรณี เท่านั้น
ชั้นที่ 4 “ซ่อมเขา-ไม่ซ่อมเรา-ไม่คุ้มครองการบาดเจ็บ” ให้ความคุ้มครองเฉพาะรถคู่กรณีที่เราชนเท่านั้น
คุ้มครองเฉพาะความเสียหายของตัวรถคู่กรณีตามความเสียหายที่แท้จริง และไม่เกินวงเงินเอาประกันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่คุ้มครองตัวผู้ขับขี่ทั้งบุคคลภายนอก(คู่กรณี) และตัวผู้ขับเอง ถือเป็นประกันรถยนต์ที่ถูกที่สุดในบรรดาประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ และมีความคุ้มครองน้อยที่สุด

เมื่อเราเข้าใจขอบเขตความคุ้มครองของแบบประกันรถยนต์แต่ละชั้นแล้ว เราก็จะพบว่า แต่ละชั้น จะเหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยง ดังนี้

ชั้นที่ 1 เหมาะกับคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มือใหม่มีประสบการณ์ขับขี่น้อย (ไม่เกิน 5 ปี) ยังมีการขับไปเฉี่ยวชนเองอยู่บ้าง มีพฤติกรรมการขับที่มีความเสี่ยง เช่น ขับรถเร็ว ขับในระยะไกลบ่อยๆ มีชั่วโมงการขับขี่ต่อวันหลายชั่วโมง (เกิน 4 ชั่วโมง) หรือมักจะชอบขับขี่ตอนกลางคืน รวมถึงอาจเป็นคนที่รับความเสี่ยงเองได้ค่อนข้างต่ำ โดยที่มีความสามารถจะจ่ายค่าเบี้ยได้ ประมาณ 15,000 บาทต่อปีขึ้นไป

ชั้นที่ 2 เหมาะกับคนที่ใช้รถน้อยมีความเสี่ยงต่ำ เช่น มีประสบการณ์ขับขี่ค่อนข้างสูง (เกิน 10 ปี) ระยะหลังมาแทบไม่เคยขับไปเฉี่ยวชนเอง และพฤติกรรมการขับขี่ก็มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ไม่ได้เป็นคนขับรถเร็วมาก ไม่ได้ขับระยะทางไกลๆ และมีชั่วโมงการขับขี่ไม่มากนักต่อวัน แต่อาจจะอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม หรือสูญหายได้ รวมถึงอาจเป็นคนที่รับความเสี่ยงเองได้ปานกลาง ค่าเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อปีขึ้นไป

ชั้นที่ 2+ เหมาะกับคนที่มีความเสี่ยงเดียวกับแบบชั้นที่ 2 แต่ยังมีประสบการณ์ขับไปเฉี่ยวชนผู้อื่นอยู่บ้างในระยะหลัง (มีคู่กรณี) ค่าเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 6,000 บาทต่อปีขึ้นไป

ชั้นที่ 3 เหมาะกับคนที่ใช้รถน้อย เช่นเดียวกับแบบชั้นที่ 2 และไม่ได้อยู่ในละแวกที่มีความเสี่ยงเรื่องรถยนต์จะถูกโจรกรรมหรือสูญหาย รวมถึงอาจเป็นคนที่รับความเสี่ยงเองได้ค่อนข้างสูง ค่าเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อปีขึ้นไป

ชั้นที่ 3+ เหมาะกับคนที่มีความเสี่ยงเดียวกับแบบชั้นที่ 3 แต่ยังมีประสบการณ์ขับไปเฉี่ยวชนผู้อื่นอยู่บ้างในระยะหลัง (มีคู่กรณี) ค่าเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาทต่อปีขึ้นไป

ชั้นที่ 4 เหมาะกับคนที่มีความเสี่ยงเดียวกับแบบชั้นที่ 3 และรับความเสี่ยงเองได้สูงมาก รวมถึงอาจมีความสามารถในการจ่ายเบี้ยต่ำมากๆ แต่ยังต้องการมีประกันรถยนต์ไว้ป้องกันความเสี่ยงที่จะเสียค่าซ่อมรถให้คู่กรณี ค่าเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อปีขึ้นไป

เมื่อเราทราบแล้วว่า ประกันรถยนต์แต่ละชั้นมีความคุ้มครองอะไรบ้าง และเหมาะกับผู้ขับขี่แบบไหน เราก็สามารถเลือกประกันรถยนต์ในแบบที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของเราได้ เพื่อให้เราสามารถทำประกันรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องความเสี่ยง คุ้มค่ากับเบี้ยที่จ่ายไป เพราะไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยสูงเกินความจำเป็นอีกต่อไป